การใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นในภูมิภาค กับ อนาคตของไทยในอาเซียน
กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English”
กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English”
“ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ”
ความหมายที่เป็นที่เข้าใจในขั้นต้นก็เป็นเพียงเรื่องของทางราชการ
และภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น
ซึ่งหากเป็นเพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องปรกติธรรมดาของ
การทำงานในโลกปัจจุบันอยู่แล้ว
แม้จะหมายความเพียงว่าเป็นการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันในการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ตลอดจนองค์กรและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทว่าความหมายของบทบัญญัติที่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของอาเซียนสำหรับการทำงานร่วมกันนั้นมีความหมายกว้างไกลไปถึงทุกส่วนของประชาคมอาเซียนด้วย
หมายความว่าประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือจากภาษาประจำชาติหรือภาษาประจำถิ่นของแต่ละชาติแต่ละชุมชนเอง เพราะไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะต้องไปมาหาสู่ร่วมประชุมปรึกษาหารือและสื่อสารกัน และไม่เฉพาะนักธุรกิจและคนทำมาค้าขายระหว่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและการติดต่อธุรกิจระหว่างกัน แต่ในเมื่อทุกคนที่อยู่ในอาเซียนล้วนแล้วแต่เป็นพลเมืองของอาเซียนด้วยกันทุกคน และทุกคนจะต้องไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ทำความรู้จักคุ้นเคยต่อกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญทุกคนจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์สู่โลกกว้างของภูมิภาคอาเซียน โลกแห่งมิตรไมตรีที่ขยายกว้างไร้พรมแดน โลกแห่งการแข่งขันไร้ขอบเขตภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน เคียงคู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละคน
หมายความว่าประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น นอกเหนือจากภาษาประจำชาติหรือภาษาประจำถิ่นของแต่ละชาติแต่ละชุมชนเอง เพราะไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่จะต้องไปมาหาสู่ร่วมประชุมปรึกษาหารือและสื่อสารกัน และไม่เฉพาะนักธุรกิจและคนทำมาค้าขายระหว่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและการติดต่อธุรกิจระหว่างกัน แต่ในเมื่อทุกคนที่อยู่ในอาเซียนล้วนแล้วแต่เป็นพลเมืองของอาเซียนด้วยกันทุกคน และทุกคนจะต้องไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ทำความรู้จักคุ้นเคยต่อกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และที่สำคัญทุกคนจะต้องเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน ในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์สู่โลกกว้างของภูมิภาคอาเซียน โลกแห่งมิตรไมตรีที่ขยายกว้างไร้พรมแดน โลกแห่งการแข่งขันไร้ขอบเขตภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน เคียงคู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละคน
ส่วนภาษาที่สามของชาวอาเซียนนั้นก็คือภาษาอื่นในอาเซียนภาษาหนึ่งภาษาใดหรือมากว่าหนึ่งภาษา เช่นภาษามาเลย์ ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาจีน ภาษาลาว ภาษาขแมร์ ภาษาเวียดนาม ภาษาพม่า ภาษาฟิลิปปิโน ภาษาฮินดี และ ภาษาทมิฬ นอกจากนั้นยังมีภาษาของประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศคู่เจรจาสำคัญของอาเซียนอีกแปดประเทศคือ: จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเรียนรู้ภาษาที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษารัสเซีย และภาษาที่ใช้ในอินเดียอีกหลายภาษา (ฮินดี, อูรดู, ทมิฬ, เบงกาลี ฯลฯ)
ภาษาอังกฤษ: ในฐานะภาษาสำคัญของโลก ภาษาอังกฤษปัจจุบันคือภาษานานาชาติ เป็นภาษากลางของโลก ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่มนุษย์บนโลกใช้ติดต่อระหว่างกันเป็นหลัก ไม่ว่าแต่ละคนจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ เมื่อต้องติดต่อกับคนอื่นที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมกันทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ทุกชาติทุกภาษาจึงบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติ เป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต
แต่เมื่ออาเซียนกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็น “working language” เราจึงต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ตามความหมายของถ้อยคำว่าเป็น “ภาษาทำงาน” ของทุกคนในอาเซียน ทุกคนที่ “ทำงานเกี่ยวกับอาเซียน”, “ทำงานในอาเซียน”, ทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน”, “มีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน”, “แสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน”, “มีเพื่อนในอาเซียน” และ “เดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน”
ทุกคนต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ชาวบ้านทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน ฯลฯ
คนทำงานเกี่ยวกับอาเซียน
คนที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องของอาเซียน หมายถึงตั้งแต่พนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ไปจนถึงคนทำงานในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ทุกคนต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
ข้าราชการไทยทุกกระทรวงทบวงกรม จะต้องมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ และใช้ได้ดีด้วย เพราะงานเกี่ยวกับอาเซียนนั้นเกี่ยวกับทุกกระทรวงทบวงกรม จากนี้ไปควรเป็นนโยบายของรัฐบาลในการบรรจุข้าราชการทุกระดับทุกหน่วยงานโดยคำนึงถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ ไม่ว่าตำแหน่งราชการนั้นๆจะเกี่ยวข้องกับงานอาเซียนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม เพราะถึงอย่างไรงานทุกระดับในหน่วยราชการจะต้องเกี่ยวข้องกับอาเซียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั้งสิ้น รัฐบาลควรมี นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าในช่วงเวลาก่อนถึงปี 2558/2015 อันเป็นปีบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียน ว่าจะปรับขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชทุกคนทุกระดับแล้วปรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนข้าราชการที่พัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้แล้วให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้ได้เงินเดือนสูงพอหรือสูงเหนือเงินเดือนปรกติในระบบราชการปัจจุบัน สูงจนเป็นที่ดึงดูดคนที่มีขีดความสามารถสูงหันมาสนใจรับราชการโดยไม่ลังเลว่าจะไปทำงานภาคเอกชนดีกว่าหรือไม่ สูงจนมาตรฐานการตอบแทนภาครัฐเทียบเท่าหรือดีกว่าภาคเอกชน
นโยบายระยะสั้นเฉพาะหน้าของระบบราชการก็คือพัฒนาบุคคลากรที่พัฒนาได้แล้วปรับเงินเดือนส่วนที่พัฒนาได้มาตรฐาน ที่เหลือก็ค่อยๆพัฒนาและปรับผลตอบแทนต่อไปในระยะยาว ข้าราชการที่ไม่ปรับตัวก็ให้อยู่อย่างปรกติธรรมดาเหมือนเดิมแบบชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงต่อไป เนื่องจากการเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ได้เสมอเหมือนกันทุกคน ทุกวัย ทุกวัฒนธรรม ไม่เกี่ยวกับภูมิปัญญาพิเศษใดๆ ใครๆก็เรียนภาษาใหม่ได้ ใครๆก็เรียนภาษาอังกฤษได้- ถ้าอยากจะเรียน -ไม่มีข้ออ้างว่ายากจน เรียนไม่ไหว หรืออายุมากแล้ว “ลิ้นแข็ง” เรียนไม่ได้แล้ว ภาษาเป็นทักษะ เรียนรู้ได้ด้วยการฝึกฝน ใช้มากๆ ใช้บ่อยๆ เท่านั้นเอง ถ้าขยันเรียนก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ในเวลาไม่นาน วิธีสร้างแรงจูงใจโดยการปรับขึ้นเงินเดือนเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการจึงเป็นแรงจูงใจอย่างมีเหตุผลดีในการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของข้าราชไทยยุคประชาคมอาเซียน
นโยบายระยะยาว ก็ควรเป็นการให้ขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานกลางของระบบราชการโดยปรับเงินเดือนและผลตอบแทนอื่นๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ หากทำเช่นว่านี้ได้ก็เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการปรับฐานเงินเดือนและผลตอบแทนให้ข้าราชการทุกคน
พนักงานประจำสำนักเลขาธิการอาเซียน สำหรับคนที่ต้องการจะไปทำงานเกี่ยวกับอาเซียนโดยตรงในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา หรือสำนักงานสาขาในประเทศอื่นที่จะมีในอนาคต ตลอดจนผู้ที่จะไปทำงานให้กับรัฐบาลประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียน กล่าวโดยตรงก็คือคนที่จะไปรับราชการในประเทศอาเซียนอื่น ซึ่งในอนาคตจะเป็นเรื่องจริงที่เป็นไปได้ เพราะแต่ละรัฐสมาชิกจะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้รู้เกี่ยวกับอาเซียนและรัฐสมาชิกอื่นในระบบการทำงานของราชการ (หรือรัฐการ) ของตน ประเทศในอาเซียนจะมีความต้องการว่าจ้างคนไทยที่มีความรู้ความสามารถเรื่องไทยและเรื่องอาเซียนให้เข้ารับราชการในประเทศของตน ชาวไทยที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆให้กับชีวิตก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษก่อนเรื่องอื่นใด ในยุคอาณานิคม แม้ไทยจะมิได้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่รัฐบาลสยามก็จ้างชาวอังกฤษมาเป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก และจ้างชาวดัทช์มารับราชการในกรมชลประทาน และ จ้างชาวอังกฤษมาเป็นครูในพระราชวังและในระบบการศึกษาพื้นฐาน ในปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศของไทยและของชาติสมาชิกอาเซียนอื่นก็ล้วนแล้วแต่มีกรมกิจการอาเซียนด้่วยกันทั้งนั้น และย่อมเป็นไปได้ที่แต่ละหน่วยงานจะมีความจำเป็นต้องจ้างชาวไทยเข้าสู่ระบบราชการของแต่ละประเทศด้วย ในทางกลับกันระบบราชการไทยก็จะมีความจำเป็นที่ต้องจ้างชาวลาว เขมร พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์ มาทำงานในกระทรวงต่างๆของไทย ทำนองเดียวกันกับที่สถาบันการศึกษาต่างๆจ้างครูชาวต่างชาติ
ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยจะต้องพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ในประชาคมอาเซียน ณ วันนี้เป็นต้นไป
(ภาษาอังกฤษ สำหรับ : คนทำงานในอาเซียน คนทำงานร่วมกับเพื่อนอาเซียน คนมีเครือข่ายประชาสังคมอาเซียน คนแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในอาเซียน คนมีเพื่อนในอาเซียน คนเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน)
สมเกียรติ อ่อนวิมล
ขอบคุณสำหรับข้อมูลและข่าวดีๆที่ร่วมสร้างสรรค์การศึกษาไทย
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์
ภาพประกอบจาก nytimes.com
ขอบคุณสำหรับข้อมูลและข่าวดีๆที่ร่วมสร้างสรรค์การศึกษาไทย
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์
ภาพประกอบจาก nytimes.com